วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

มีทางเลือก (ไม่)มีทางรอด : ยังไงก็ขาดทุน

"หากเราเปิดตู้เย็นทิ้งไว้ในห้องที่ปิดสนิท ในที่สุดแทนที่ห้องจะเย็นกลับกลายเป็นห้องจะร้อนขึ้น"

ประโยคนี้มาจากชั้นเรียนเทอร์โมไดนามิกส์ของวิชาฟิสิกส์ปี 1 ซึ่งยังคงจำได้ดี ถึงแม้ตอนนี้จะเรียนสายชีววิทยาแล้ว ประโยคนี้ยังคงใช้มองโลกได้เสมอ

โดยหลักการทางเทอร์โมไดนามิกส์นั้น การที่เราจะให้เครื่องจักรทำงานให้เราปริมาณหนึ่งนั้น เราต้องให้พลังงานเครื่องจักรเข้าไปมากกว่าที่มันต้องการ โดยส่วนต่างมักจะกลายเป็นความร้อนสูญเสียออกมา ทำให้เราอธิบายได้ว่า เมื่อเราเปิดตู้เย็นทิ้งไว้ ความร้อนที่เกิดขึ้น ก็จะมาจากพลังงานที่ดึงออกจากอากาศจนเย็นตัว บวกกับความร้อนที่ต้องใส่เพิ่มแต่ดันสูญเสียออกจากระบบ ยิ่งทำความเย็นเท่าไหร่ ความร้อนก็ยิ่งเกิดมากกว่านั้น หากไม่เชื่อ ให้ลองย้ายคอมเพรสเซอร์แอร์ที่บ้านท่าน เข้ามาในบ้านแทนซิครับ แล้วจะรู้ว่า มันเป็นอย่างไรเมื่อเปิดแอร์ไปซักพัก

ไม่เพียงแต่แอร์หรือตู้เย็น ทุกเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องกำเนิดพลังงานทั้งหลาย ก็เป็นไปตามกฏเทอร์โมไดนามิกส์เช่นกัน เราอยากให้รถวิ่งได้งานเท่าไหร่ พลังงานก็ต้องใช้มากกว่านั้น ที่เหลือเป็นความร้อน หรือว่าอยากได้ไอน้ำไปหมุนกังหันดูดพลังงานเท่าไหร่ เราก็ต้องใส่พลังงานเข้าไปมากกว่านั้น แล้วที่เหลือ ก็ออกมาเป็นความร้อนที่สูญเสีย

รู้มั้ยครับว่าทำไมเป็นแบบนี้ ก็เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเพอร์เฟคครับ รู้มั้ยครับว่าเครื่องยนต์รถทั่ว ๆ ไปมีประสิทธิภาพเพียง 30-40 เปอร์เซน ลองคิดดูว่าเราใช้น้ำมันไปเพื่อผลิตความร้อนที่ไม่จำเป็นมากขนาดไหน หากเครื่องจักรทำงานได้ 100 เปอร์เซนต์เต็มแล้วล่ะก็ คงไม่มีปัญหานี้ล่ะครับ (ทำให้เห็นว่า ไอ้เครื่องจักรตรีเอกานุำภาพที่เคยเป็นข่าวในห้องหว้ากอพักนึงนั้น เป็นเรื่องบ้าบอสิ้นดี เค้าบอกว่า เค้าทำให้พลังงานที่ได้จากเครื่องกำเนิดพลังงานของเค้าเนี่ย มากกว่าที่ใส่ไปซะอีก โอ้วแม่เจ้า!!!)

ในเมื่อเครื่องมือเครื่องจักรทุกอย่างยังไม่สมบูรณ์แบบ สูญเสียความร้อนออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งหม้อหุงข้าวอุ่นทิพย์ในบ้านเรา ก็ต้องใช้พลังงานมากกว่างานที่ทำได้ แล้วปล่อยความร้อนออกมา เมื่อทุกอย่างพร้อมใจกันปล่อยความร้อนออกมา ก็ไม่แปลกที่โลกเราจะร้อนขึ้นครับ เพราะความร้อนเรามากขึ้น แต่อัตราการระบายความร้อนออกสู่อวกาศกลับน้อยลง(โดยความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น) จนเกิดความเคลื่อนไหวและเป็นกระแสสังคม(จมปลักแต่ถุงผ้า)ในปัจจุบัน

ท่านผู้อ่านสังเกตอะไรมั้ยครับ ว่าหากนำพลังงานที่เราใช้เพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรเหล่านั้น มาหลักลบกับงานที่เครื่องจักรทำให้ เราจะพบว่าเรา "ขาดทุน" มาตลอด แถมได้ความร้อนไม่พึงประสงค์อีก เพียงแต่ในสถานการณ์จริงนั้น เราเลือกจะผลักใสส่วนที่ขาดทุน ให้อยู่ไกลตัวมาตลอด และเรื่องนี้ไม่เกิดเฉพาะกับเครื่องจักร แต่มันเกิดกับหลาย ๆ อย่าง เช่น...

...เราเปิดแอร์ให้ห้องเราเย็น แต่เกิดความร้อนมากกว่านั้นข้างนอก...
...เราทำปลากระป๋องผ่านกรรมวิธีเพื่อความสะอาด แต่เกิดน้ำเสียจากกระบวนการมากมาย...
...เราล้างจานให้สะอาด โดยการผลิตน้ำสกปรกออกมาแทน...
...การให้คนคนหนึ่งรวยขึ้น มักจะตามมาด้วยความยากจนของคนมากกว่าหนึ่งคนเสมอ...

เมื่อหักลบกันโต้ง ๆ แล้ว เรา "ขาดทุน" ชัด ๆ

กลับมามองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน แหล่งพลังงาน และวิธีใช้พลังงานของมนุษย์นั้น ไม่ได้เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนมากนัก ตั้งแต่การใช้ถ่านไม้ถ่านหิน ถึงปัจจุบันยุคของปิโตรเลียมและนิวเคลียร์ เราใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ ต้มน้ำ หมุนกังหันผลิตไฟฟ้า แล้วส่งตามสาย หรือ ป้อนให้เครื่องยนต์ประสิทธิภาำำพต่ำทำงานแล้วสูญเสียความร้อน ซึ่งดำเนินความ"ขาดทุน"มาตลอด แม้ว่าประสิทธิภาพของเครื่องจักรจะสูงขึ้นตามการพัฒนาของมนุษย์ แต่ด้วยจำนวนที่มากขึ้น ความร้อนที่สูญเสียรวม มันก็มากขึ้นอยู่ดี (แนะนำผู้อ่านอ่านเรื่อง Urban Heat Island) โลกก็ได้ความร้อนมากขึ้น แต่ระบายได้น้อยลง...

เมื่อประเด็นภาวะโลกร้อนแดงขึ้นมา ประชาชนชาวโลกหลายภาคส่วนก็มีการตื่นตัวต่อการแก้ปัญหานี้(จริงใจหรือแค่ภาพลักษณ์ทางธุรกิจก็อีกเรื่อง) โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่การกล่าวโทษก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกรองอื่น ๆ(เช่นมีเธน ไอน้ำ ฯลฯ) ว่าเป็นตัวการที่ทำให้โลกร้อนขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ"พลังงานทางเลือก" ที่มีจุดประสงค์ในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมให้ได้ เช่น พลังงานที่เป็นผลิตภัณฑ์จากกระบวนการสังเคราะห์แสง หรือพลังงานไฮโดรเจน โดยมีการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานดังกล่าวมากมาย

แต่ทุกท่านอาจจะนึกหรือไม่นึกก็ตามแต่ ไม่ว่าเราจะใช้พลังงานอะไรในการขับเคลื่อนเครื่องจักร มันก็เกิดความร้อนสูญเสียออกมาทั้งนั้น ไม่ว่าพลังงานของท่านจะ Zero Emission แต่เครื่องยนต์ของท่านก็ทำให้เกิดความร้อนสะสมอยู่ในโลกอยู่ดี เรื่องอนาคตไม่ต้องพูดถึง ประชากรมากขึ้น อะไร ๆ ก็มากขึ้น ได้เฮแน่!

ยิ่งเราพยายามเพื่อที่จะ "ขาดทุน" น้อยลงเท่าไหร่
เราก็ยิ่ง "ขาดทุน" เท่านั้น(หรือมากกว่านั้น)

ถึงเรามี"ทางเลือก"มากมายไม่รู้จบ
แต่ทุกทางเลือก กลับไม่ใช่ "ทางรอด"ของเราหรอก

โลกเราตอนนี้ก็เหมือนตู้ปลา เราก็เหมือนปลาที่อยู่ในน้ำ เราหายใจ เราขี้เยี่ยว น้ำก็สกปรก เราอาจจะรวมสิ่งสกปรกไว้ที่เดียวกันเพื่อคงความสะอาดของน้ำที่เราอยู่ได้ แต่เราทำได้ไม่ตลอดไปหรอก ซักวันหนึ่ง หากสิ่งไม่ดีที่เราทำเอาไว้มันล้นมาจริง ๆ หวังว่า เราคงจะมองโลกใหม่ เพื่อให้สรรพชีวิตอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้จริง ๆ (แต่จะมีวันนั้นหรือไม่อันนี้ไม่ทราบ แต่ปัจจุบันไม่เห็นแนวโน้ม)

สำหรับผู้เขียนนั้น เท่าที่รู้มา เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพที่สุด(กินไฟต่ำ แต่ทำงานได้มาก) เห็นจะเป็น"มันสมอง"ของมนุษย์เรา ๆ นะครับ ก็ไม่แน่นะครับ ในการทำโลกใบนี้ให้น่าอยู่ หากเราใช้สมองให้มาก ใช้เครื่องจักรให้น้อย อะไร ๆ มันอาจจะดีขึ้นก็ได้

"เพราะยังไง...เครื่องจักรใด ๆ ก็สู้ภูมิปัญญาที่สรรสร้างพวกมันขึ้นมาไม่ได้หรอก"

จบ


ปล.กรุณาคอมเม้นด้วยครับ เพื่อการพัฒนาการเขียนผลงานต่อไป
ปล2. โปรแกรมหน้า อาจจะเป็นหนึ่งในหัวข้อต่อไปนี้
- Final Fantasy 13 Review : เกมเจ้าแห่งคัตซีน หรือหนังเรื่องยาวที่เล่นได้
- COWON S9 Review : จุดเริ่มต้นของวิถีแห่ง Audiophile
- A Man Abroad : สวัสดีเซนต์หลุยส์


4 ความคิดเห็น:

  1. แต่ตอนนี้เราก็ทำได้แค่คงสภาพเอาไว้ไม่ให้มันแย่ไปกว่านี้

    ตอบลบ
  2. A Man Abroad : สวัสดีเซนต์หลุยส์ <<< รออ่าน

    ตอบลบ
  3. ก็ทำให้มองเห็นว่าเราได้มองข้ามอะไรไปหลายอย่างเลย โดยเฉพาะการที่คนเราหันไปสนใจพลังงานทางเลือกจะลืมมองไปว่านั่นมันใช่ต้นเหตุที่แท้จริงหรือไม่

    gunner89

    ตอบลบ
  4. เห้อ.....อ ล้วนเเล้วคือความจริงไฉนปุถุชนทั่วไปใยมิรู้และเหลียวแล

    ตอบลบ